ชุมชนเขิน

          “เขิน” เป็นชาติพันธ์หนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอสันป่าตองในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่นํ้าขาน ปัจจุบันชุมชนเขินที่ยังคงเอกลักษณ์ด้านภาษาพูดของตนได้แก่ บ้านดงกํ๋า บ้านป่าสัก บ้านต้นแหนหน้อย บ้านต้นแหนหลวง บ้านต้นกอก บ้านทุ่งเสี้ยว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหมู่บ้านซึ่งมีการกลืนกลายทางวัฒนธรรมไปบ้าง เช่น บ้านท่าเดื่อ บ้านป่าลาน-ดอนแก้ว ต.ทุ่งสะโตก บ้านป่าลาน ต.ทุ่งต้อม บ้านป่าจี้ บ้านสันกาวาฬ บ้านศรีบุญเรือง เป็นต้น
          เขินในอำเภอสันป่าตองอาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มตามลักษณะการพูด กลุ่มแรก คือกลุ่ม “เขินก่อ -เขินแด้” มาจากคำพูดที่ว่า “มะสังก่อ, มะสังก่อแด้” กลุ่มนี้ประกอบด้วยบ้านดงกํ๋า บ้านป่าสัก บ้านทุ่งเสี้ยว บ้านต้นแหนหน้อย บ้านต้นแหนหลวง บ้านป่าลาน บ้านท่าเดื่อ กลุ่มที่สอง คือกลุ่ม “เขินอู” กลุ่มนี้มักเรียกตัวเองว่า “อู” เช่น “อันนี้ของอู” กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยบ้านต้นกอก และบ้านสันกาวาฬ และกลุ่มที่สาม คือกลุ่ม “เขินหวา” มาจากคำพูดที่ว่า “มะสังหวา” กลุ่มนี้ได้แก่บ้านศรีบุญเรือง และบ้านแสนคันทาในเขตอำเภอแม่วาง เป็นต้น
           ชาวเขินในอำเภอสันป่าตองไม่ได้มีความเชื่อเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนได้อพยพมาจากสงครามและความไม่สงบของบ้านเมืองในครั้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีความเชื่อเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแสวงหาที่อยู่ใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าด้วย โดยมาในรูปแบบของพ่อค้าวัวต่าง เมื่อเดินทางมายังที่ราบลุ่มแม่นํ้าขานอันเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าทั้งพันนาขานและพันนาท่ากานเดิมก็เล็งเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์และพอจะตั้งบ้านเรือนได้ จึงได้กลับไปยังเชียงตุงเพื่ออพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำมาหากิน
            ชาวเขินเริ่มปักหลักตั้งบ้านเรือนบริเวณริมแม่นํ้าขานซึ่งอุดมไปด้วยป่าไม้ต่างๆ เช่น ป่าต้นสัก ป่าต้นเกล็ดหรือไม้ชิงชัน และต้นแหน ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านของชาวเขินในปัจจุบันว่า บ้านป่าสัก บ้านต้นเก็ดหรือบ้านดงกํ๋า และบ้านต้นแหนหลวง โดยชาวเขินที่นี่มีความรับรู้ร่วมกันว่าวัดป่าสักเป็นวัดหลวงหรือวัดหน้าหมู่ของกลุ่ม ทั้งนี้ วัดป่าสักหรือเดิมเรียกว่าวัดสันป่าสักนั้น เป็นวัดที่มีมาก่อนแล้ว ดังปรากฏในเอกสารใบลานและพับสาที่ผู้เขียนได้สำรวจไปเมื่อเดือนเมษายน -พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ พบว่าวัดนี้มีมาก่อน พ.ศ.๒๓๐๐ และศิลปวัตถุในวัดก็เป็นลักษณะศิลปกรรมในยุคพระเมืองแก้วเป็นกษัตริย์ครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๐๓๘ -๒๐๖๘)
             ชาวเชียงตุงมีความเชื่อเรื่องเสื้อบ้าน ไม้หมายเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านนั้นๆ ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานของคนในแถบนี้อันเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องผีและความเชื่อทางศาสนาพุทธ
              ชาวเขินเมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ก็ยังยึดคตินี้อย่างเหนียวแน่น โดยพบว่าที่บ้านดงกํ๋ามีหอเสื้อบ้านตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่ และมีเสาหลักบ้านด้วย จึงอาจสันนิษฐานว่าชาวเขินเมื่ออพยพมาริมแม่นํ้าขานและเห็นว่าเป็นสถานที่ที่มีทำเลเหมาะสมในการตั้งหมู่บ้าน จึงเริ่มปักหมุดเสาหลักบ้าน โดยพื้นที่เดียวกันนี้มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่ จึงเป็นไปตามคติไม้หมายเมืองของชาวเขิน
              ในปัจจุบันพบว่า ชาวเขินในอำเภอสันป่าตองบางกลุ่มยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนนั่นคือภาษาพูดได้อย่างเหนียวแน่น เช่น หมู่บ้านดงกํ๋า บ้านป่าสัก บ้านต้นแหนหน้อย บ้านต้นแหนหลวง บ้านต้นกอก โดยขณะที่บางหมู่บ้านเริ่มจะไม่พูดเขินกันแล้ว และเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือดนตรีของชาวเขิน ได้แก่วงกลองมองเซิงของบ้านป่าสัก ปัจจุบันคนเฒ่าคนแก่ที่บรรเลงก็เลิกเล่นเพราะชราภาพหรือบ้างก็เสียชีวิตไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่งหากชาวเขินเองจะไม่อนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้


ต้นไม้หมายเมืองและหอเสื้อบ้านของบ้านป่าสัก


ที่มา : สงกรานต์  สมจันทร์

ข่าวประจำวัน